ชี่กง
ชี่กงศาสตร์เพื่อการพัฒนาตนเอง
ชี่กง หมายถึง การฝึกฝนกาย-ใจ เพื่อบำรุงรักษาสุขภาพ โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า ชี่ หมายถึง พลังชีวิต ซึ่งมีอยู่ในร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของประจุไฟฟ้าและคลื่นความร้อน มนุษย์รับเอา ชี่ มาจากภายนอกโดยการกินอาหาร การหายใจ การรับแสงแดด การเดินบนพื้นดิน กง หมายถึง การกระทำหรือการทำงานเพื่อให้ได้พลังชีวิต
มนุษย์ทุกคนย่อมมีพลังชีวิตอยู่ในตัวทั้งนั้น แต่จะมีปริมาณมากบ้างน้อยบ้างตามสภาพของร่างกายและจิตใจ ผู้ที่เจ็บป่วยย่อมมีพลังชีวิตน้อยกว่าผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ประวัติความเป็นมา ชี่กงมีอายุมากกว่า 2,000 ปี โดยในยุคแรกๆ เน้นการร่ายรำลอกเลียนแบบการเคลื่อนไหวของสัตว์ แพทย์จีนสมัยโบราณได้พัฒนาและคิดค้นรูปแบบการฝึกเพื่อใช้แนะนำแก่ คนไข้ของตนเองอย่างกว้างขวาง ตำราทางแพทย์จีนจึงประกอบไปด้วย เรื่องราวของสมุนไพรการฝังเข็มและการฝึกชี่กง ปัจจุบันมีชี่กงที่ประชาชนฝึกฝนกันมากกว่า 3,000 แบบ แต่ละแบบมีความยากง่ายและประสิทธิภาพแตกต่างกันออกไป ปัจจัยสำคัญในการฝึกชี่กง ปัจจัยสำคัญที่มีความสำคัญ ได้แก่ 1. ผู้ฝึกมีความรู้ความเข้าใจ ทำการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ และในขณะที่เหมาะสมคือจิตใจมีความสบายสงบพอสมควร ไม่อยู่ในอารมณ์โกรธหรือเครียดมากๆ และร่างกายมิได้อ่อนเพลียมาก หรือมีไข้สูง 2. สถานที่ฝึกมีความเหมาะสม มีอากาศปลอดโปร่ง มีแสงแดดส่องถึง ทั้งนี้ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝึกได้แก่ เวลาเช้า และเย็น ระหว่างฝึกควรถอดรองเท้าแล้วยืนบนพื้นดิน หญ้าหรือไม้ ไม่ควรยืนบนพื้นซิเมนต์ หรือหินอ่อน (แต่หากจำเป็นก็ควรใส่รองเท้าหรือผ้าปูเพื่อรองรับเท้าทั้งสองข้าง) ชี่กงกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลที่เกิดจากการฝึกชี่กง ทั้งในหลอดทดลองและกับผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ ซึ่งสามารถสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้
1. พลังชีวิตที่เกิดจากการฝึกชี่กงสามารถฆ่าเชื้อโรคในหลอดทดลองและในจานเพาะเชื้อได้
2. การฝึกชี่กงทำให้การไหลเวียนเลือด (Micro circulation) ดีขึ้น ภายหลังการฝึกจึงมักพบว่าอุณหภูมิผิวหนังของผู้ฝึกจะสูงขึ้น
3. การฝึกชี่กงสามารถเพิ่มความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับสารภูมิแพ้ (Ryu, H และคณะ 1996) จึงสามารถใช้บำบัดอาการภูมิแพ้อย่างได้ผล
4. การฝึกชี่กงสามารถเพิ่มเม็ดเลือดขาว CD4 ในกระแสเลือดในอาสาสมัครที่ฝึกชี่กง ติดต่อกันนานเกิน 5 เดือนขึ้นไป (Tyu, H และคณะ 1994) 5. การฝึกชี่กงในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จะช่วยลดความดันโลหิต รวมทั้งลดการใช้ยารักษาความดันโลหิตสูงลงไปได้ (อมรรัตน์ ภิราษร 2541)
ประโยชน์ของการฝึกชี่กง
การฝึกชี่กงมีประโยชน์ทั้งในด้านการเสริมสุขภาพและการบำบัดโรคหลายชนิด เหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะการฝึกชี่กงนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้าง ความสมดุลของร่างกายและจิตใจ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1. การฝึกชี่กงเป็นการบริหารร่างกายทำให้เกิดการยืดหยุ่นของข้อต่อและเส้นเอ็น กระดูกและกล้ามเนื้อก็แข็งแรง
2. การฝึกหายใจเข้าท้องพองหายใจออกออกท้องยุบในระหว่างฝึก จะช่วยให้หายใจได้ลึก ปอดได้รับออกซิเจน ขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การฝึกชี่กง เป็นการทำสมาธิจึงช่วยสงบจิตใจ ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดการทำงานของหัวใจ และสร้างสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติ
4. ภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น มีความสมดุลมากขึ้น
5. ฮอร์โมนของร่างกายสมดุลมากขึ้น เช่น ช่วยลดฮอร์โมนของต่อมหมวกไตที่อาจมากเกนไป เป็นต้น
6. ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานอย่างสมดุลมากขึ้นมีประโยชน์มากในผู้ที่มีความเครียดสูง สำหรับโรคและความผิดปกติสามารถใช้การฝึกชี่กงช่วยเสริมการบำบัด ได้แก่
-
ความเครียด เช่น อาการหายใจไม่โล่ง ใจสั่น กระวนกระวายใจ นอนไม่หลับ อาการตกใจง่าย อาการเหล่านี้ควรฝึกวันละ 15-30 นาที
-
ภูมิแพ้ เช่น อาการน้ำมูกไหลตอนเช้าๆ อาการไอ จาม คัดจมูก อาการเหล่านี้ควรฝึกวันละ 15-30 นาที
-
ความดันโลหิตสูง คือความดันโลหิตมากกว่า 160/90 มิลลิเมตรปรอท ควรใช้เวลาฝึกประมาณวันละ 30-45 นาที
-
มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งบางชนิด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งเต้านม ควรใช้เวลาในการฝึกวันละ 2 ชั่วโมง
การฝึกชี่กงเพื่อช่วยบำบัดโรคนี้ มีข้อควรเข้าใจว่าต้องใช้ควบคู่ไปกับการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน ผู้ป่วยรายใดได้รับยารักษาอยู่ก็ควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ใช้การฝึกชี่กง เพื่อเสริมการบำบัดรักษาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
ข้อมูลจาก : http://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=877 #general