top of page

บทความชุด “ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561” ตอนที่ 3 Muscle of the Soul


เรามาทำความรู้จักเจ้ากล้ามเนื้อแสนกลนี้กันต่อเลยครับ

หากดูเผินๆ Psoas major ก็ไม่เห็นมีอะไรพิสดาร ก็แค่กล้ามเนื้อที่ยึดโยงกระดูกขาส่วนบน(Femur) ไว้กับกระดูกสันหลังส่วนเอว ส่วนหน้าที่ของมัน เท่าที่มีระบุไว้ในหนังสือชื่อ “การฝึกความแข็งแรงรูปแบบ Functional Training สำหรับนักกีฬา(ฉบับปรับปรุงใหม่)” พิมพ์ครั้งที่ 1 : มีนาคม 2558 จัดพิมพ์โดยกรมพลศึกษา หน้า 22 เขียนไว้สั้นๆ ว่า “กล้ามเนื้อIliacus และ Psoas major ซึ่งมักเรียกว่ากล้ามเนื้อ Iliopsoas ทำหน้าที่งอข้อสะโพก”

แต่ผู้คร่ำหวอดด้านกล้ามเนื้อแกนกลาง (Core muscle) ในร่างกายมนุษย์อย่างคุณ Liz Koch ได้เขียนชำแหละเจ้ากล้ามเนื้อลึกลับนี้ไว้ในหนังสือชื่อ “The Psoas Book” ซึ่งทำให้ผู้อ่านอย่างผมตระหนักว่า การที่ “เจินชี่” (พลังแท้) พร่องหรือติดขัด จนไม่สามารถต่อต้าน “เสียชี่”(พลังก่อโรค)ที่เข้าไปทำลายความสมดุลของ Psoas major นั้น จะนำไปสู่ผลลัพธ์สาหัสที่กินวงกว้างทั้งร่างกายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังนี้ครับ

1. ผลลัพธ์ด้านโครงสร้างร่างกายตอนที่เรานั่ง Psoas major จะหดสั้นลงครั้นเรากลับมายืนหรือเดิน กล้ามเนื้อนี้จะคลายตัวแต่ถ้าเรานั่งนานเกิน 2 ชั่วโมงเป็นกิจวัตรPsoas major จะหดเกร็งค้าง ไม่อาจคลายตัวกลับไปสู่ความยาวดั้งเดิมได้ถึงแม้เราจะเลิกนั่งแล้วก็ตาม ทำให้เกิดการดึงรั้งกระดูกสันหลังช่วงเอวให้แอ่นไปด้านหน้า (Lordosis) กล้ามเนื้อหลังจะหดเกร็งตาม จนเกิดอาการปวดหลังและมีบุคลิกภาพการทรงตัวที่ดูแย่

2. ผลลัพธ์ด้านการขับเคลื่อนของไหลในช่องท้อง ขณะที่เราเดินหรือวิ่ง Psoas majorจะยืดตัว-หดตัวตามจังหวะการก้าวเท้า เกิดเป็นแรงกระทำในแนวนอนร่วมกับกระบังลมที่ส่งแรงกระทำจากด้านบนลงมา จนเกิดแรงดันไฮดรอลิกในช่องท้อง ส่งถ่ายพลังงานเชิงของไหลไปยังกระดูกเอว อวัยวะภายใน ต่อมน้ำเหลือง ตลอดจนหลอดเลือดใหญ่น้อยในบริเวณนั้น ผลคือเกิดแรงขับเคลื่อนน้ำไขสันหลัง น้ำเหลือง และโลหิต ให้ไหลเวียนได้เป็นอย่างดีแต่ถ้าPsoas major หดเกร็งค้างพลังขับเคลื่อนของไหลในช่องท้องดังกล่าวก็จะเสื่อมทรามลง เกิดการจำกัดการไหลเวียนของโลหิต ส่งผลให้อวัยวะทั้งหลายในช่องท้องทำงานบกพร่อง เช่น ระบบขับถ่ายไม่ดี มีอาการปวดเกร็งเวลามีรอบเดือน เป็นต้น

3. ผลลัพธ์ด้านกลุ่มเส้นประสาทเอว (Lumbar plexus)กลุ่มเส้นประสาทเอวจะรวมตัวอยู่ใน Psoas majorก่อนที่จะทอดตัวลงมาที่ขาทั้งสองข้าง ในกรณีที่ Psoas major หดเกร็ง ก็จะไปรบกวนกระแสประสาทที่ไปเลี้ยงขา จนอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีกระแสอุ่นๆ ไหลในหน้าขาท่อนบน

4. ผลลัพธ์ด้านระบบหายใจกระดูกสันหลังช่วงเอว นอกจากจะมี Psoas major ไปเกาะแล้ว ยังมีส่วนหนึ่งของกระบังลมยืดลงมาร่วมเกาะด้วยที่ข้อ L2 กับ L3แบบเชื่อมสับหว่างกัน (Interdigitation) ดังนั้น การหดเกร็งค้างของ Psoas majorนอกจากจะไปดึงรั้งกระดูกซี่โครง ซึ่งทำให้ช่องอกมีปริมาตรลดลงจนปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่แล้ว ยังไปกระทบต่อการทำงานของกระบังลมจนเกิดการหายใจติดขัดอีกด้วย

5. ผลลัพธ์ด้านอารมณ์ อาจารย์มันตักเจีย (謝明德) ปรมาจารย์แห่งเต๋าบำบัด ระบุว่า สมองชั้นสัตว์เลื้อยคลาน (Reptilian brain)ในคนเรา จะเชื่อมต่อโดยตรงผ่านทางระบบพังผืดไปยังPsoas major เพื่อทำให้มันเป็นกล้ามเนื้อแรกที่หดตัว และเป็นกล้ามเนื้อสุดท้ายที่คลายตัว ตามอารมณ์โกรธหรือกลัว อันเกิดจากสัญชาตญาณ สู้หรือหนี (Fight or flight) ที่ติดตัวคนเรามาสำหรับการเอาชีวิตรอดจากอันตรายต่างๆ ถ้าเราสะสมอารมณ์โกรธหรือกลัวไว้นานๆ นอกจากจะมีผลทำให้ Psoas major หดเกร็งค้างแล้ว ยังทำให้ต่อมAdrenal ถูกกระตุ้นตลอดเวลา จนเรารู้สึกเหนื่อยเพราะความเครียดภายใน

คงเห็นแล้วว่า Psoas major มีความสำคัญมาก จนกระทั่งอาจารย์มันตักเจียมอบฉายา Muscle of the Soul แก่กล้ามเนื้อนี้ทีนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญคือ แล้วเราจะดูแลกล้ามเนื้อนี้กันอย่างไร?

นักบำบัดมักแนะนำให้บริหารกล้ามเนื้อนี้ เพื่อให้มันคลายตัวจนกลับมามีความยาวเท่าเดิม หรือออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงให้มัน ซึ่งเป็นคำตอบที่ดี แต่ยังดีไม่ถึงที่สุด ในขณะที่การฝึกฝนร่างกายตามแบบฉบับของโลกตะวันตกที่มักเน้นหนักในเรื่องการเพาะและสร้างความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อนั้น วงการชี่กงในโลกตะวันออกจะมุ่งไปที่การพัฒนา “กำลังเส้นเอ็น” มากกว่า เพราะตระหนักดีว่า อันกล้ามเนื้อนั้นต่อให้บำรุงเลี้ยงและฝึกมันทุกวัน ก็ไม่อาจรักษาความแข็งแรงให้คงที่ตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้นได้ ผิดกับเส้นเอ็นที่จะไม่ถูกความชราภาพของร่างกายมากระทบ

ดังนั้น ในการฝึก “จ้านจวง (站桩)” อันเป็นกระบวนท่ายืนในวิชาชี่กง อาจารย์จะคอยสั่งสอนให้ศิษย์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อให้มีแต่เส้นเอ็นเท่านั้นที่เข้ามาทำหน้าที่ร่วมกับกระดูกโครงสร้างในการรับน้ำหนักของร่างกาย ในขณะเดียวกัน จะต้องมีการใช้จิตเฝ้าที่ “ตันเถียนล่าง” ซึ่งประกอบด้วยกระดูกเชิงกรานให้วางตำแหน่งอย่างได้ศูนย์กับกะโหลกศีรษะและกระดูกสันหลังเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดน้ำหนักร่างกายลงสู่ขาทั้งสองข้างได้อย่างสมบูรณ์เมื่อพัฒนาจนได้ที่แล้ว ก็พร้อมที่จะฝึกชี่กงเคลื่อนไหว อย่างเช่นวิชาไท้เก๊ก เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ “ตันเถียนล่าง” เป็นตัวนำในการเคลื่อนไหวในทุกแนวแกน และการผ่อนคลายกล้ามเนื้อในขณะร่ายรำ ทั้งนี้ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อจะทำให้สามารถส่งถ่าย “เน่ยจิ้ง (กำลังภายใน)” ผ่านเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ไปโจมตีคู่ต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ ในมุมมองของวิชาชี่กง วิธีที่ดีที่สุดในการดูแล Psoas major ก็คือ การใช้จิตไปสัมผัสรู้ถึงความผ่อนคลายในเจ้ากล้ามเนื้อแสนกลนี้ครับ

ดร.สมพงษ์ หาญวจนวงศ์

อาจารย์ชี่กง : ศูนย์ชี่กงอาจารย์หยาง

13 มกราคม 2561

bottom of page