top of page

บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561’ ตอนที่ 4 สาร ‘จิง’ ของจอมยุทธ์


วิชาชี่กง มักถูกมองว่าเป็นเรื่องของการฝึก‘ชี่’ (พลังงานในร่างกาย) เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกเพียงบางส่วน อาจารย์หยาง เผยเซิน มักกล่าวย้ำอยู่เสมอว่า ชี่กง คือ การฝึก ‘จิง-ชี่-เสิน’

ผู้เรียนชี่กงมักตั้งคำถามกับผมว่า จะฝึก‘ชี่’อย่างไร? จะฝึก‘เสิน’อย่างไร? แต่ไม่เคยมีใครแม้แต่คนเดียวถามผมว่า จะฝึก‘จิง’อย่างไร?ทั้งๆ ที่ ‘จิง’ตามทัศนะการแพทย์จีน คือสารจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตที่จะขาดไปเสียไม่ได้ หรือเรียกว่าสารชีวิตที่เป็นของเหลว ซึ่งเป็นวัตถุพื้นฐานที่ช่วยให้ร่างกายมีการเจริญเติบโต มีการพัฒนาการดำเนินชีวิตทุกประการเมื่อ‘จิง’ ลดน้อยถอยลงร่างกายก็จะเข้าสู่ภาวะเสื่อมถอยทำให้คนเราเข้าสู้วัยแก่ชราในเมื่อรู้เช่นนี้ แล้วทำไมจึงแทบจะไม่มีใครใส่ใจถามถึงมันเลย

ดังนั้น บทความตอนนี้จึงถูกเขียนขึ้นเพื่อเล่าเบื้องหลังของจอมยุทธ์ทุกคนบนโลกใบนี้ว่า มีวิธีฝึก ‘จิง’’ อย่างไร จนสามารถพัฒนาตนเองจากคนสามัญธรรมดาให้ขึ้นมาเป็นยอดฝีมือระดับเทพได้ โดยจะขอเริ่มปูพื้นด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับการรับรู้ (Perception)แล้วตามด้วย การฝึกฝนอย่างล้ำลึก (Deep practice) ก่อนที่จะเฉลยในช่วงท้ายว่า อะไรคือ สาร ‘จิง’ ของจอมยุทธ์ครับ

อันร่างกายของมนุษย์นั้น เกิดการรับรู้ได้ 3 แบบ คือ

1) การรับรู้ต่อสภาวะภายนอกร่างกายผ่านทางตัวรับรู้ที่เรียกว่า เอ็กซ์เตอโรเซพเตอร์ (Exteroceptor)ซึ่งก็คือทวาร 5 ของร่างกาย อันได้แก่ ตา หู จมูก ปาก ผิวหนัง

2) การรับรู้ต่อสภาวะภายในร่างกายผ่านทางตัวรับรู้ที่เรียกว่า อินเตอโรเซพเตอร์(Interoceptor)อาทิเช่นตัวรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด (Nociceptor), ตัวรับรู้การเหยียด (Stretch receptor) ของอวัยวะภายใน, ตัวรับรู้สารเคมีในระบบประสาท (Chemoreceptor)เป็นต้น

3) การรับรู้อากัปกิริยา ผ่านทางตัวรับรู้ตามผิวหนัง กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และหูชั้นในที่เรียกว่า โพรพริโอเซพ​​เตอร์(Proprioceptor)ซึ่งคอยส่งข้อมูลมาประมวลผลที่สมองทำให้เกิดการรับรู้ว่า มือเท้า แขน ขา ศีรษะ กำลังอยู่ตรงไหน กำลังทำอะไร กำลังมีท่าทางแบบใด ตลอดจนช่วยให้มีการเคลื่อนไหวหรือจับต้องวัตถุใดๆ โดยไม่ต้องมองดูอวัยวะแต่ละส่วนขณะเคลื่อนไหวคนที่มีการรับรู้อากัปกิริยาที่ดี เมื่อให้ยืนให้ห้องที่มืดสนิท จะสามารถใช้นิ้วชี้แตะที่ปลายจมูกได้อย่างแม่นยำ หรือยืนขาเดียวขณะหลับตาได้นานกว่า 30วินาที โดยไม่เซหรือเสียการทรงตัว (ดูรูปที่ 1)

การรับรู้อากัปกิริยาสามารถฝึกกันได้เช่น ฝึกการทรงตัวด้วยการเล่นสเกตบอร์ด หรือการยืนบนกระดานฝึกทรงตัว (Balance board)การรำไท้เก๊กก็เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการพัฒนาการรับรู้อากัปกิริยายิ่งถ้าหลับตาฝึกด้วยแล้ว พลังฝีมือก็จะยิ่งสูงส่งเหนือชั้นขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง มีเรื่องเล่าว่า การที่ จูล่ง ขุนพลเทพสงครามแห่งสามก๊ก มีความเก่งกาจระดับจอมยุทธ์ในการใช้ทวนเป็นอาวุธนั้นเนื่องจากครั้งหนึ่งท่านถูกลอบวางยาพิษจนตาบอดไปชั่วคราว ทำให้ต้องฝึกยุทธ์ทั้งๆ ที่มองไม่เห็น แต่กลับเป็นผลดีที่ช่วยเพิ่มทักษะและการใช้ประสาทสัมผัสให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้เพลงทวนของแม่ทัพจูล่งจะไร้ร่องรอยไปแล้วในยุคปัจจุบัน แต่เคล็ดวิชา ‘ปิดตาฝึกยุทธ์’ ของท่านยังคงถูกวงการกีฬากอล์ฟ เทนนิส ฟุตบอล แบดมินตัน ฯลฯ หยิบยืมมาประยุกต์ใช้สร้างยอดฝีมือออกมาคนแล้วคนเล่า เพราะด้วยการฝึกแบบนี้ที่ถูกเรียกว่า ‘การฝึกฝนอย่างล้ำลึก (Deep practice)’จะช่วยพัฒนาให้ประสาทรับรู้อากัปกิริยาที่เฉียบคม รวดเร็ว และลื่นไหล ได้มากกว่าคู่แข่งขันนั่นเอง

การฝึกฝนอย่างล้ำลึกมีกฎอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ 1)แยกทักษะออกเป็นหน่วยเล็กๆ จากนั้นก็ฝึกทีละหน่วยไปอย่างช้าๆโดยใส่ใจกับความผิดพลาดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น 2) ฝึกซ้อมซ้ำๆ เป็นประจำทุกวันอย่างตื่นตัว และจดจ่อที่จะแก้ไขตรงจุดที่เรามักผิดพลาด ซึ่งจะทำให้เราเก่งขึ้น 3) ลับคมประสาทสัมผัส ถ้าอยากหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด เราต้องฝึกประสาทสัมผัสให้รู้สึกถึงมันได้ในทันทีเสียก่อน ที่เหมือนหนวดปลาหมึกออกไปห่อหุ้มใยประสาทด้วย ไมอีลิน

ด้วยการฝึกฝนอย่างล้ำลึกนี่เองที่ทำให้เซลล์ค้ำจุนในสมองของคนเราที่ชื่อ โอลิโกเดนโดรไซต์ (Oligodendrocyte)และแอสโทรไซต์ (Astrocyte) ผลิตสารแห่งความเก่งกาจออกมา โดยนักประสาทวิทยาเรียกเจ้าสารมหัศจรรย์นี้ว่า ไมอีลิน- Myelin(ดูรูปที่ 2)

เนื่องจากทักษะทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการเล่นกอล์ฟหรือการเต้นบัลเลย์ ล้วนเกิดจากการที่เครือข่ายใยประสาทส่งสัญญาณไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไมอีลิน ซึ่งเป็นฉนวนในระบบประสาท จะห่อหุ้มใยประสาทเพื่อไม่ให้กระแสไฟฟ้าชีวภาพรั่วไหลออกไป ส่งผลให้สัญญาณประสาทแรงขึ้น และเดินทางได้รวดเร็วขึ้น เวลาที่นักกอล์ฟหวดไม้ลงมากระทบลูกกอล์ฟได้อย่างเหมาะสม ไมอีลินก็จะตอบสนองโดยห่อหุ้มวงจรประสาทนั้นด้วยฉนวนหลายๆ ชั้น แต่ละชั้นจะช่วยเพิ่มระดับทักษะและความเร็วขึ้นทีละน้อย ยิ่งไมอีลินหนาขึ้นเท่าใด มันก็จะยิ่งป้องกันไม่ให้สัญญาณประสาทรั่วไหลได้มากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้นักกอล์ฟสวิงไม้กอล์ฟได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้นตามไปด้วย

เนื่องจากไมอีลินเป็นสารประเภทไขมัน หรือ สาร‘จิง’ นั่นเอง ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การฝึกฝนอย่างล้ำลึก ก็คือการฝึก ‘จิง’กล่าวคือ ทุกครั้งที่เราฝึกฝนอย่างล้ำลึกไปตามกระบวนท่าชี่กงรูปแบบง่าย หรือกายบริหาร ‘กวงอิมจื้อไจ้กง’ 18 ท่า หรือรำไท้เก๊กตระกูลหยาง 24 ท่า นั้น เรากำลังติดตั้งเครือข่ายรับส่งข้อมูลความเร็วสูงให้กับสมองของตนเองอย่างช้าๆ เราส่งสัญญาณที่ไปกระตุ้นเซลล์ค้ำจุนในสมองของเราให้ยืดออกมาห่อหุ้มใยประสาทด้วย ไมอีลิน ทบแล้วทบเล่า จนเยื่อหุ้มหนาขึ้นตลอดทั้งเส้น วงจรประสาทจึงทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เองคือช่วงเวลาที่ทักษะวรยุทธ์ชี่กงของเราได้ถือกำเนิดขึ้นครับ

20 มกราคม 2561

ดร.สมพงษ์ หาญวนจวงษ์

อาจารย์ชี่กง - ศูนย์ชี่กงอาจารย์หยาง

bottom of page