top of page

บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561’ ตอนที่ 6  ฟ้า- คน - ดิน (ภาค 1)


ในตอนที่แล้ว ได้เล่าถึงการหายใจตามเคล็ดวิชาถู่น่าไปแล้ว ซึ่งการที่จะฝึกวิชานี้ให้สำเร็จนอกจากจะต้องมี ‘ฝ่า’ (法คือ การมีวิธีฝึกที่ถูกต้อง) แล้ว เรายังต้องมี ‘ตี้’ (地คือ การมีสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี) จึงจะทำให้การฝึกก้าวหน้าเร็ว เมื่อเปิดพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พบคำว่า Sappaya อ่านว่า สัปปายะ แปลว่า “สภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นที่สบาย เกื้อกูล สนับสนุนในการบำเพ็ญและประคับประคองรักษาสมาธิให้ได้ผลดี ตั้งมั่นไม่เสื่อมถอย” แบ่งออกเป็น 7 ประการ ซึ่งบทความตอนนี้จะขอกล่าวถึงสัปปายะแรกเท่านั้น คือ ‘อาวาสสัปปายะ’ หมายถึงสถานที่ซึ่งเป็นที่สบายฯ นั่นเอง

ผู้ที่เคยศึกษาประวัติของครูบาอาจารย์มาบ้างก็จะพบว่า การบรรลุธรรมชั้นสูงของท่านมักเกิดขึ้นในเขตชนบท เช่น ตามเรือกสวน ในป่า ในถ้ำ บนภูเขา บนเกาะ เป็นต้น ซึ่งท่านได้พิจารณาแล้วว่าเป็นอาวาสสัปปายะแต่สำหรับพวกเราซึ่งเป็นฆราวาสที่ยังต้องดำเนินชีวิตอยู่ในเมือง การมีความรู้ติดตัวที่ช่วยให้เราพอแยกแยะได้ว่าสถานที่ใดเป็นสัปปายะจึงเป็นเรื่องจำเป็น

อาจารย์หยาง เผยเซิน ก่อนที่จะพาลูกศิษย์ออกไปฝึกชี่กงตามรีสอร์ทต่างๆ ท่านจะเดินทางไปตรวจดูรีสอร์ทนั้นๆ ว่า มีสิ่งแวดล้อมถูกต้องตามหลักของ ‘ตี้’หรือไม่ มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่ผมอยู่กับท่านที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งท่านเล่าให้ผมฟังว่า สถานที่ที่ท่านเลือกจะต้องมีอากาศที่เย็นสบาย มีสายลมโชยอ่อนๆ มีแมกไม้นานาพันธุ์ที่ขจายกลิ่นหอมที่มีส่วนผสมของน้ำมันระเหยที่นักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบว่าเป็น ‘วิตามินในอากาศ’ ยิ่งสถานที่นั้นอยู่ใกล้กับแหล่งพลังธรรมชาติใหญ่ๆ เช่นแม่น้ำ ทะเล ภูเขา น้ำตก ก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะ‘อู่สิง’ (五行คือ เบญจธาตุ ได้แก่ ไม้-ดิน-น้ำ-โลหะ-ไฟ) ที่มีอยู่ในสถานที่ดังกล่าวจะแผ่พลังในรูปของสนามแม่เหล็กออกมาปรับสนามแม่เหล็กชีวภาพในตัวเราให้คืนกลับสู่สภาวะสมดุล จากนั้น ท่านได้สอนให้ผมเปิด ‘จักระ’ทั่วร่างกายที่ผ่านการฝึกชี่กงมาแล้วหลายพันชั่วโมง เพื่อให้มาสัมผัสสนามแม่เหล็กในรีสอร์ทแห่งนั้น เมื่อผมปฏิบัติตามที่ท่านสอน ก็เกิดประสบการณ์ ‘ปีติสุข’ ที่น่าอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง

ถึงตรงนี้ ผมจะขอนำการค้นพบทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนความเป็นสัปปายะของสถานที่พอเป็นสังเขป โดยจะเริ่มด้วยเรื่องของสนามแม่เหล็กซึ่งดำรงอยู่ใน‘ตี้’ครับ

แต่ก่อน คนเรายังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสนามแม่เหล็ก ต่อเมื่อมีการส่งนักบินขึ้นไปในอวกาศ ซึ่งเท่ากับเป็นการออกไปพ้นจากแรงดึงดูดของโลก เมื่อต้องทำงานอยู่ในอวกาศนานๆ นักบินอวกาศเหล่านี้จะเกิดอาการผิดปกติตามมาเหมือนๆ กัน คือ อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อันเป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่า โรคอวกาศ (Space sickness) ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างได้ผลดีด้วยการสร้างสนามแม่เหล็กเทียมที่มีความถี่ 7.83 รอบต่อวินาทีขึ้นในสถานีอวกาศ มนุษย์จึงค่อยๆ ตระหนักว่าทุกๆ ชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ ต่างได้รับพลังงานชีวิตจากสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งเป็นสนามพลังอ่อนๆที่เราได้รับอยู่ตลอดเวลา หากขาดการรับพลังที่ว่านี้เมื่อใดขึ้นมา ก็อาจส่งผลให้เราเจ็บป่วยได้

ทำไมสนามแม่เหล็กเทียมในสถานีอวกาศต้องมีความถี่ 7.83 รอบต่อวินาที? คำตอบคือสนามแม่เหล็กซึ่งมีรูปทรงคล้ายโดนัทขนาดยักษ์ที่ห่อหุ้มผิวโลกของเราอยู่นั้นมีศักย์ทางไฟฟ้าเป็นลบเมื่อเทียบกับศักย์ทางไฟฟ้าเป็นบวกในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ ที่อยู่เหนือพื้นผิวโลกขึ้นไป 90 กิโลเมตร การที่ฟ้า-ดินมีศักย์ทางไฟฟ้าที่ต่างกันทำให้มีการระบายประจุออกเป็นระยะๆ และเกิดเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำ ส่งผลให้ที่ว่างระหว่างฟ้า-ดินมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าวิ่งวนอยู่ตลอดเวลา โดยคลื่นนี้มีชื่อว่า ชูมานน์เรโซแนนซ์ (Schumann resonance) หรือรู้จักกันในนามของ ชีพจรโลก (Earth’s heartbeat) โดยในปี ค.ศ. 2014 พบว่ามีความถี่อยู่ที่ 7.83 รอบต่อวินาทีนั่นเอง

แผนที่โลกตามรูปแสดงถึงความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กโลกตามภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้ ศูนย์กลางของสนามแม่เหล็กโลกที่มีค่ามากและมีค่าน้อยจะเคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป โดยมีหน่วยวัดเป็นฟุตต่อปี จากแผนที่นี้จะเห็นได้ว่า สนามแม่เหล็กโลกที่มีค่าความเข้มข้นต่ำที่สุด มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศบราซิล ส่วนประเทศไทยของเราจะอยู่ด้านนอกสุดของศูนย์กลางนี้ แสดงว่าประเทศไทยมีสนามแม่เหล็กโลกที่มีความเข้มข้นสูงมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะมีสนามแม่เหล็กโลกที่มีความเข้มข้นสูงมากเหมือนกันในทุกพื้นที่กล่าวคือ สนามแม่เหล็กโลกจะพบได้ทั่วไปในธรรมชาติตามป่าเขาและชายทะเล แต่จะมีน้อยลงตามเขตเมืองที่มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเทียมที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น ที่ถูกส่งออกมาจากสายไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย ซึ่งจะไปหักล้างกับสนามแม่เหล็กโลกให้มีค่าลดน้อยลง

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมคอยหมั่นเตือนผู้เรียนชี่กงให้ปิดไฟ ปิดเครื่องปรับอากาศ ปิดพัดลม ตลอดจนปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายที่มีอยู่ในสถานที่ฝึกชี่กง เพื่อลดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเทียมที่สามารถทำร้ายสุขภาพของผู้อยู่ในทิศทางของมัน นอกจากนี้ ผมยังแนะนำให้ผู้ฝึกหันร่างกายด้านหน้าไปทางทิศใต้ เพราะสนามแม่เหล็กโลกมีทิศทางเคลื่อนที่จากทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือนั่นเอง ... (ยังมีต่อ)

27 มกราคม 2561

bottom of page