top of page

บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561’ ตอนที่ 7 ความขยันหมั่นเพียร


วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ทางศูนย์ธรรมชาติบำบัดอาจารย์หยางได้ทำพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาชี่กง ‘กวงอิมจื้อไจ้กง’ ขั้นที่ 1 จำนวน 18 ท่าน นับเป็นศิษย์ฯรุ่นที่ 127 (ดูรูปที่ 1)

ขอเล่าถึงประสบการณ์จากการฝึกชี่กงที่เกิดขึ้นกับศิษย์ฯ รุ่นที่ 127 นี้จำนวน 5ท่านซึ่งผมพิจารณาแล้วว่าเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์อันทรงคุณค่า และสมควรแบ่งปันให้เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง ซึ่งนอกจากเป็นการให้เครดิตแก่ท่านเหล่านี้แล้วยังจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับใช้บำรุงเลี้ยงกำลังใจแก่ผู้ที่มุ่งแสวงหาความสำเร็จในการฝึกชี่กง

เริ่มจากคุณสุธรรม สุขุมภานุเมศร์ ได้กล่าวถึงเป้าหมายที่มาเรียนว่า ต้องการฝึกชี่กงเพื่อบำบัดอาการบ้านหมุน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน แพทย์ได้รักษาด้วยการให้กินยา แต่อาการบ้านหมุนนี้กำลังหวนกลับมา คุณสุธรรมตระหนักดีว่า ถ้ากลับไปพบแพทย์อีก ก็คงต้องกินยาเหมือนเดิม ก็เลยไม่ไปพบแพทย์ แต่เลือกที่จะมาฝึกชี่กงแทน หลังจากที่ได้ฝึกวิชาต่างๆ ที่มีสอนอยู่ในหลักสูตรชี่กง ‘กวงอิมจื้อไจ้กง’ ขั้นที่ 1 ติดต่อกันมาเป็นเวลา 5 สัปดาห์ วันนี้พบว่าตนเองหายจากอาการบ้านหมุนแล้ว มีบางคนในชั้นเรียนถามคุณสุธรรมว่า ฝึกมากน้อยเท่าไร คุณสุธรรมตอบว่า ฝึกทุกวันๆ ละ 1 ชั่วโมง หลายคนอุทานว่า โอ้โห! ผมจึงกล่าวเตือนสติว่า อย่าโอ้โห เพราะเป็นการสร้างจิตลบให้ตัวเอง อันที่จริงการฝึกวันละ 1 ชั่วโมงไม่ถือว่ามากเมื่อเทียบกับศิษย์รุ่นพี่หลายท่านที่มาเล่าให้ผมฟังว่า ฝึกวันละ 1 ถึง 2 ชั่วโมงเป็นประจำ นอกจากนี้ ผมได้ยกตัวอย่างซูเปอร์สตาร์ภาพยนตร์กำลังภายในอย่างคุณหลี่ เหลียนเจี๋ย หรือเจ็ท ลี ที่ฝึกฝนวิชาอู่ซู่ วันละ 8 ชั่วโมง จนได้เป็นแชมป์ประเทศจีนตั้งแต่อายุ 11 ปี และเป็นแชมป์ถึง 5 ปีซ้อนในเวลาต่อมา

ท่านที่สองคืออาจารย์คมสัน เตชะไมตรีจิตต์ หรือโค้ชหนุ่มซึ่งตั้งเป้าหมายจะมาเรียนชี่กงเพื่อฝึกสมาธิ แต่ผลลัพธ์ที่ได้เกินเป้าหมายไปเป็นอันมาก อาจารย์คมสันเล่าว่า หลังจากฝึกชี่กงแล้วพบว่าเส้นเอ็นในร่างกายแข็งแรงขึ้นมาก โดยสังเกตจากตอนไปเล่นบาสเกตบอลกับเพื่อนๆ สามารถกระโดดได้สูงกว่าปกติจนตัวเองตกใจแทบร่วงกลางอากาศอีกทั้งตอนชู้ตลูกบาสก็ทำได้ไกลกว่าเดิมมากหลายคนที่ฟังอยู่รู้สึกทึ่งจนอดไม่ได้ที่จะเอ่ยปากถามเหมือนเดิมว่าฝึกหนักแค่ไหน อาจารย์คมสันตอบว่าเฉลี่ยวัน 1.5 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าคุณสุธรรมเสียอีก แต่คราวนี้ไม่มีใครอุทาน โอ้โห อีกแล้วส่วนการที่อาจารย์คมสันกล่าวว่า การฝึกชี่กงทำให้เส้นเอ็นแข็งแรงนั้น แสดงถึงความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งผมเคยเล่าไว้แล้วในบทความตอนที่ 3 ว่า อันกล้ามเนื้อนั้นต่อให้บำรุงเลี้ยงและฝึกมันทุกวัน ก็ไม่อาจรักษาความแข็งแรงให้คงที่ตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้นได้ ผิดกับเส้นเอ็นที่จะไม่เสื่อมไปตามความชราภาพของร่างกาย

ท่านที่สามคือ คุณประติชญา เตมียะประดิษฐ์ ต้องการฝึกชี่กงเพื่อบำบัดอาการออฟฟิศ ซินโดรม โดยคุณประติชญาเล่าว่า เมื่อก่อนพอตื่นนอนขึ้นมา จะรู้สึกร้าวทั้งคอและบ่าเหมือนมีใครนั่งทับ ตอนลงจากเตียงเอาเท้าเหยียบพื้นไม่ได้เลย ก้าวแรกที่ยืนจะทรุดก่อน หลังจากฝึกชี่กงมา 5 สัปดาห์ เดี๋ยวนี้ไม่มีอาการดังกล่าวแล้ว ตื่นนอนตอนเช้าก็สามารถลงจากเตียงมาเดินได้อย่างสบาย

ท่านที่สี่คือ คุณวราวุธ ศรีโสภาค หรือคุณเล็กมีอาชีพที่ทำให้ต้องนั่งมาก จนเกิดอาการชาที่ขาข้างซ้ายรวมทั้งมีอาการปวดหลัง เวลาทำงานตอนบ่ายๆ ต้องใส่เข็มขัดพยุงหลัง (Back support) ปัจจุบันนี้ หลังจากที่ฝึกชี่กงทุกวัน อาการชาที่ขาข้างซ้ายได้หายไปก่อนเลย ส่วนอาการปวดหลังดีขึ้นมากจนไม่ต้องใส่เข็มขัดพยุงหลังแล้ว

ท่านที่ห้าคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นภวรรณ ตันติเวชกุล หรืออาจารย์มายด์ มีปัญหาคล้ายๆ คุณวราวุธ คือ ต้องนั่งเขียนงานวิจัยเป็นเวลานานๆ จนมีอาการปวดหลังส่วนล่างและไหล่ แพทย์บอกว่า น่าจะเกิดจากกระดูกทับเส้นประสาท ครั้นเมื่อฝึกชี่กงครบ 3 สัปดาห์ สิ่งที่หายแน่ๆ คือ อาการปวดหลังส่วนล่าง แต่ยังมีปัญหาคือ พอตนเองสบายแล้ว ก็จะกลับมานั่งทำงานนานๆ เหมือนเดิม จนถึงตอนเย็นจะเริ่มปวดหลังอีก พอฝึกชี่กงใหม่ก็จะดีขึ้น ผมจึงให้คำแนะนำไปว่า ควรตั้งนาฬิกาปลุกในสมาร์ทโฟนทุกๆ 2 ชั่วโมง พอมันส่งสัญญาณเตือน ให้ลุกขึ้นมาเดินหรือแกว่งแขนสะบัดพลังเป็นเวลา 5 ถึง 10 นาที ก็จะแก้ปัญหานี้ได้

ประสบการณ์ดีๆ ที่เกิดกับศิษย์ฯ รุ่นที่ 127 ทั้ง 5 ท่านดังที่ได้เล่ามานี้ล้วนเกิดจากความขยันหมั่นเพียรในการฝึกชี่กงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไปพ้องกับข้อสุดท้ายของคำแนะนำ 8 ประการที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จในการฝึกชี่กง ที่มีบันทึกอยู่ในตำราการฝึกชี่กงของจีน (修道资粮 อ่านว่า ซิวเต้าจวือเหลียง) ที่ว่าการที่จะรู้ลึกในวิชาชี่กงได้อย่างแท้จริง มีวิธีเดียวคือ修练(อ่านว่า ซิวเลี่ยน) นั่นคือ ต้องมีความขยันหมั่นเพียรในการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ฟังหรืออ่านว่ารู้แล้วแต่ไม่ได้ฝึก ก็จะเป็นแค่รู้ในทฤษฎีเท่านั้น

อนึ่ง ความขยันหมั่นเพียรนี้ ถูกปราชญ์ทุกชาติทุกภาษาสรรเสริญว่าเป็นคุณธรรมที่ควรแก่การพัฒนาให้มีในตนเอง ซึ่งตรงนี้ผมขออนุญาตเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนวิชา ‘คัมภีร์ชี่กง’ ขณะนั้นอาจารย์หยาง เผยเซินกำลังสอนวิธีบำเพ็ญ ‘เสิน’ (神- ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของผู้ฝึกชี่กง) จู่ๆ อาจารย์หยาง ก็ยกตัวอย่างการบำเพ็ญ ‘เสิน’รวม 13 ประการของฝรั่งคนหนึ่ง ซึ่งบนด้านหน้าของธนบัตร100 ดอลลาร์สหรัฐ จะมีภาพของบุรุษผู้นี้ปรากฏอยู่ (ดูรูปที่ 2)ซึ่งก็คือ คุณเบนจามิน แฟรงคลิน (ค.ศ. 1706 – 1790)หนึ่งในบิดาผู้สร้างประเทศสหรัฐอเมริกา (Founding Fathers) นั่นเอง

รูปที่ 2รูปเบนจามิน แฟรงคลินบนด้านหน้าของธนบัตร 100 ดอลลาร์สหรัฐ

ในปี ค.ศ. 1726 ขณะที่มีอายุ 20 ปีคุณเบนจามิน แฟรงคลินได้บัญญัติรายการคุณธรรม 13 ประการ (13 Virtues) ขึ้นมา และปฏิบัติจนเป็นนิสัยติดตัวไปตลอดชีวิต ซึ่งในมุมมองของอาจารย์หยาง นี่เป็นการฝึก ‘เสิน’ เพื่อบรรลุความเป็น 人格(อ่านว่า เหรินเก๋อ แปลว่า บุคคลที่มีคุณธรรมสูงส่ง) ส่วนประเด็นของผมอยู่ตรงคุณธรรมประการที่ 5 :Industry คือ ความขยันหมั่นเพียร ซึ่งคุณเบนจามิน แฟรงคลิน ได้มีอมตะวาจาไว้ดังนี้ …

“ความขยันหมั่นเพียร คือมารดาของโชคอันประเสริฐ พระเจ้าได้ประทานทุกสิ่งที่พระองค์มีให้กับผู้ที่มีความเพียร จงทำงานของวันนี้อย่างเต็มที่ เพราะคุณไม่อาจรู้ว่าจะต้องเจออุปสรรคมากมายเพียงใดในวันพรุ่งนี้ จงจำไว้ว่าวันนี้มีค่าเป็นสองเท่าของวันพรุ่งนี้ …”

“รัฐบาลที่เข้มงวดมาก อาจเรียกเก็บภาษีจากเราถึง 1 ใน 10 ของรายได้ แต่ความเกียจคร้านเรียกเก็บภาษีหลายต่อหลายเท่าเอากับตัวเรา ความเฉื่อยชาจะนำเอาเชื้อโรคมาสู่ตัวเรา ทำให้ชีวิตของเราสั้นลง ความเกียจคร้านเป็นเฉกเช่นเชื้อสนิม มันจะกัดกินตัวเราเร็วกว่าความเหนื่อยล้าจากการทำงานเสียอีก ...”

17 กุมภาพันธ์ 2561

ดร. สมพงษ์ หาญวจนวงศ์ อาจารย์ชี่กง- ศูนย์ชี่กงอาจารย์หยาง สอบถามหรือสมัครเรียน 026370121 ไลน์ qg_yang ทำการอังคาร-เสาร์ 9.00-17.00 น.

bottom of page