top of page

บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561’ ตอนที่ 13: การผ่อนคลายคืออะไร?

คนส่วนใหญ่มองว่า การฝึกชี่กงในท่ายืนอรหันต์ คือวิธีฝึกกำลังขาให้ยืนได้มั่นคงหนักแน่น เป็นพื้นฐานของการฝึกพลังภายในของวิชามวยจีน แต่มีน้อยคนที่รู้ว่า การฝึกในท่ายืนอรหันต์นั้นก็คือการฝึกเข้าสมาธิในท่ายืนหรือบางทีเรียกว่า การยืนสมาธิซึ่งถือเป็นกระบวนท่าที่ถูกนำมาฝึกฝนในสำนักชี่กงอย่างกว้างขวางมากที่สุด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบ่มเพาะความแข็งแรงให้แก่ขาและเอวจนสามารถทรงท่าร่างได้อย่างสมดุลการยืนสมาธิมีความหมายตรงตามตัวอักษร คือการทำสมาธิในท่ายืนนั่นเอง

การยืนสมาธิในภาษาจีนคือ จ้านจวง แปลว่า การยืนนิ่งๆ อย่างมั่นคงเหมือนเสาที่ปักลงบนดิน การยืนสมาธิมีประโยชน์หลายประการที่เหนือกว่าการนั่งสมาธิ ได้แก่ การมีจิตที่ตื่นตัวกว่าในการรักษาสมดุลของร่างกาย หรือการที่ขาและเท้าได้ยืดเหยียดตามธรรมชาติ ช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ตามปกติ ต่างจากท่านั่งสมาธิที่ต้องนำขามาขัดไขว้กัน ทำให้โลหิตไหลเวียนได้ลำบาก จนอาจเกิดอาการเหน็บชาของขาและเท้าได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ การยืนสมาธิจะเปิดโอกาสให้ร่างกายได้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ผู้ฝึกได้รับ ซึ่งต่างจากการนั่งสมาธิที่มักมุ่งเน้นไปที่การฝึกจิตเพียงประการเดียว ดังนั้น การยืนสมาธิจึงถูกจัดให้เป็นการฝึกสมาธิชั้นสูงของสำนักเต๋า โดยมีวลีระบุไว้ว่า “性命双修”(อ่านว่า ซิ่งมิ่งซวงซิว) แปลว่า “บ่มเพาะร่างกายและจิตวิญญาณอย่างเท่าเทียม”

จากท่ายืนสมาธิ ถ้าดูจากภายนอก จะไม่พบการเคลื่อนไหวใดๆ แต่แท้จริงมีการเคลื่อนไหวของชี่และลมหายใจอยู่ภายใน เป็นทั้งการรับและการรุก เป็นสภาวะทั้งแบบหยินและแบบหยาง ผู้ฝึกไม่ต้องเข้าไปยุ่งเหยิงกับชี่ แต่จะต้องเฝ้าดำรงสภาวะ “การผ่อนคลาย” (松อ่านว่าซง) ซึ่งเป็นคำที่มาจากหลักการพื้นฐานดั้งเดิมอันสำคัญยิ่งของสำนักชี่กงที่ว่า 全身放松 (อ่านว่า เฉวียนเซินฟ่างซง) แปลว่า ผ่อนคลายทั้งร่างกาย ปลดความตึงเครียดออกจากกล้ามเนื้อและข้อต่อ แต่จิตใจต้องมีสติเฝ้าตามรู้สภาวะภายในอันได้แก่คุณภาพของชี่ที่เกิดขึ้น เป็นต้นว่า มันเคลื่อนไหวอย่างไร มันไหลคล่องหรือติดขัดที่จุดใด สัมผัสได้ชัดเจนหรือเลือนราง ละเอียดหรือหยาบ เป็นต้นอีกทั้งในขณะเดียวกันยังต้องตื่นตัวต่อสภาวะและแรงต่างๆ ที่มาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกอีกด้วย

แต่สำหรับคุณ Karel Koskuba ที่ได้ร่ำเรียนศาสตร์ชี่กงและมวยจีนจนเกิดความช่ำชองจนสามารถประกอบอาชีพเป็นอาจารย์สอนมวยอี้เฉวียน ปากั้วจ่าง สิ่งอี้เฉวียน และไท้จี๋เฉวียน มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984่ายออกกำลังอย่างเอาจริงเอาจังและสม่ำเสมอที่บ้านหรือที่โรงยิม คุณคงนึกภาพออกว่า นี่จะทำให้เกิดความสมดเขาได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและด้านเวชกรรมฟื้นฟูเพื่อการทรงท่า มาสนับสนุนความเชื่อของเขาที่ว่า “การผ่อนคลาย”เป็นเทคนิคของการฝึกฝนกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeleton muscle)ที่มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

1. กล้ามเนื้อ Postural เป็นกล้ามเนื้อสำหรับการทรงท่า การรักษาสมดุลของร่างกาย และสะเทินแรงโน้มถ่วงของโลก เราไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อประเภทนี้ได้ โดยมันจะทำหน้าที่ของมันอย่างอัตโนมัติ และทำงานอยู่ตลอดเวลา(ดูรูปที่ 1 กล้ามเนื้อสีม่วง)

(ก) กล้ามเนื้อด้านหน้าของร่างกายมนุษย์(ข) กล้ามเนื้อด้านหลังของร่างกายมนุษย์

รูปที่ 1 กล้ามเนื้อ Postural (สีม่วง) และกล้ามเนื้อ Phasic (สีเขียว)

2. กล้ามเนื้อ Phasic เป็นกล้ามเนื้อสำหรับการเคลื่อนไหว เราสามารถควบคุมกล้ามเนื้อประเภทนี้ได้ อย่างเช่นการยกแขนขา การขยับศีรษะ เป็นต้น(ดูรูปที่ 1 กล้ามเนื้อสีเขียว)

ในมุมมองของคุณ Koskubaสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับกล้ามเนื้อPosturalก็คือความจริงที่ว่า กล้ามเนื้อประเภทนี้จะทำปฏิกิริยากับแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งมันจะทำหน้าที่ดังกล่าวด้วยตัวของมันเองโดยไม่ต้องรอการสั่งการจากระบบประสาทส่วนกลางนั่นคือ เราไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อ Postural ได้โดยตรง แต่ทำได้โดยอ้อมผ่านทางความตั้งใจ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราขี่จักรยาน เรารักษาการทรงตัวโดยการใช้กล้ามเนื้อ Postural ความตั้งใจของเราคือขี่จักรยานโดยไม่ล้ม แต่เราไม่สามารถใช้จิตสำนึกมาควบคุมการทรงตัวให้ได้ดังใจได้ เนื่องจากจิตสำนึกทำงานช้าเกินไป เพราะกว่าจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นเราก็ล้มไปแล้ว นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นตอนที่เราหัดขี่จักรยาน เราเริ่มต้นด้วยการใช้กล้ามเนื้อ Phasic หลังจากลองผิดลองถูกไปสักระยะหนึ่ง กล้ามเนื้อ Postural ก็จะเริ่มเข้ามารับหน้าที่แทนกล้ามเนื้อ Phasic แล้วเราก็จะ ‘พบความสมดุล’ ในที่สุด

คุณ Koskuba ตีความคำว่า “ซง” ว่า เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ Phasic แล้วปล่อยให้กล้ามเนื้อ Posturalทำหน้าที่แทน โดยปล่อยให้จิตใต้สำนึกคอยปรับร่างกายของเราให้ยืนตรงด้วยการทรงท่าที่ถูกต้อง กล่าวคือ ศีรษะสมดุล คอผ่อนคลาย ท่อนอกได้สมดุลกับท่อนเอว ร่างกายโดยรวมได้สมดุลกับขาและข้อเท้า ได้โดยตลอดไม่ว่าแรงโน้มถ่วงโลก สายลม ตลอดจนแรงอื่นๆ จะกระทำอย่างไรกับตัวเรา ถ้าเราทรงท่าที่ถูกต้องโดยมีกล้ามเนื้อ Phasic ที่ผ่อนคลาย เราก็จะสามารถยืนได้อย่างยาวนานโดยมีการใช้แรงเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเราทรงท่าไม่ถูกต้องและไม่ได้ผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ เราจะไม่สามารถยืนได้อย่างยาวนาน เนื่องจากเรากำลังใช้กล้ามเนื้อPhasic(แทนที่จะเป็นกล้ามเนื้อ Postural) มาประคับประคองการทรงท่าที่ย่ำแย่ของเราโดยไม่รู้ตัว ซึ่งตามธรรมชาติ กล้ามเนื้อ Phasic มีความอึดถึกน้อยกว่ากล้ามเนื้อ Postural เมื่อเราใช้กล้ามเนื้อ Phasic ชิ้นใดมาทรงท่านานๆ กล้ามเนื้อ Phasic ชิ้นนั้นจะแสดงอาการผิดปกติออกมา

ครั้งหนึ่ง ปรมาจารย์ เหลียง ต้งไฉ (梁棟材)ไปรำมวยไท้จี๋เฉวียนในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในไต้หวัน ปรากฏว่ามีนักพรตเต๋าพรรษาสูงท่านหนึ่งมาหยุดยืนดู แล้วขอให้ปรมาจารย์เหลียงหยุดอยู่ในท่าที่กำลังรำอยู่ในขณะนั้น ซึ่งเป็นท่า “ไก่ทองยืนขาเดียว” ปรมาจารย์เหลียงปฏิบัติตามโดยยืนด้วยขาข้างหนึ่ง และยกเข่าของขาอีกข้างหนึ่งสูงขึ้นมาในอากาศ (ดูรูปที่ 2) ปรมาจารย์เหลียงยืนค้างอยู่เช่นนั้นประมาณ 5 นาที ท่านนักพรตก็เดินเข้ามาจับที่น่องของปรมาจารย์เหลียงแล้วสั่นศีรษะเป็นเชิงไม่เห็นชอบ พลางกล่าวว่า “ทำไมน่องตึง? ไท้จี๋ของประสกแข็งทื่อเหมือนท่อนไม้” จากนั้นท่านได้ยืนในท่าเดียวกันนี้ หลังจากผ่านไป 5 นาที ท่านบอกให้ปรมาจารย์เหลียงลองจับน่องของท่าน ปรมาจารย์เหลียงพบว่าน่องของท่านอ่อนนุ่มราวกับก้อนฝ้าย

______________________________________________

06 กันยายน 2561

เขียนโดย ดร. สมพงษ์ หาญวจนวงษ์

อาจารย์สอนชี่กง-ศูนย์ชี่กงอาจารย์หยาง

bottom of page