ตั้งแต่ปี 2549 ที่อาจารย์หยาง เผยเซิน ได้มอบหมายให้ผมช่วยสอนวิชาชี่กงขั้นที่ 1 ถึง 3 ทำให้ผมมีโอกาสได้รู้จักสนิทสนมกับศิษย์อาจารย์หยางเกือบทุกคน หนึ่งในนั้นคือ คุณวีณาริน ลุลิตานนท์ ชื่อเล่น นัส (ศิษย์รุ่นที่ 132)มีอยู่วันหนึ่งหลังจบการเรียนการสอนชี่กงขั้นที่ 1 แล้ว ผมสังเกตเห็นเสื้อยืดที่เธอสวมอยู่พิมพ์ข้อความว่า “มักกะสัน ปอดสุดท้ายในเมือง” (รูปที่ 1)
ข้อความนี้กระตุ้นให้ผมเกิดความสนใจและสนทนากับเธอ จนได้ความรู้เบื้องต้นว่า ‘มักกะสัน’ซึ่งเป็นชื่อเรียกโรงงานซ่อมบำรุงของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ชนิดหายากรอให้เหล่าจอมยุทธ์ลองเข้าไปสัมผัสรับพลัง มีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร คือตำบลมักกะสัน ซึ่งในอดีตเป็นทุ่งขนาดใหญ่ มีแขกชาวมากัซซาร์ (Makassar) จากเกาะซูลาเวซี ประเทศอินโดนีเซียมาอยู่กันมาก จึงเรียกบริเวณนี้ว่ามักกะสันซึ่งเพี้ยนมาจากมากัซซาร์นั่นเองครั้นถึงปี 2450 ทางการได้เลือกที่ดินแปลงที่มักกะสัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐกาลที่ 5 พระราชทานให้กับการรถไฟฯมาสร้างโรงงานรถไฟแห่งใหม่ รองรับงานซ่อมรถจักรและรถพ่วงแทนโรงงานซ่อมที่หัวลำโพงที่ถูกยุบ จนสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2453
วันศุกร์ 15 มีนาคม 2562 เป็นวันที่นัสเชิญผมให้มาเข้าร่วมกิจกรรมเยี่ยมชมโรงงานมักกะสัน หลังจากผ่านประตูทางเข้าที่ 1 สู่ด้านในของสถานที่ อายตนะภายในตัวผมที่มีต่อตัวอาคารโรงงานที่สักวันอาจถูกเชิดชูให้เป็นมรดกอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไม้สอยยุคเก่าก่อน หัวรถจักรบนรางรถไฟแบบเดียวกับที่เห็นในภาพยนตร์เรื่อง The Bridge on the River Kwai ตลอดจนดงต้นไม้ใหญ่ที่ยืนตระหง่านดูครึ้มไปทุกหนทุกแห่ง ล้วนแล้วแต่ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกับกำลังก้าวเข้าไปยังดินแดนในศตวรรษที่แล้ว
นัสพาผมไปพบปะมิตรใหม่หลายคนที่มารวมตัวกันที่ตึกอำนวยการ ได้แก่ คุณสมบุญ แดงอร่าม วิทยากรและเจ้าบ้าน รวมทั้งพนักงานการรถไฟฯ หลายท่านที่มาให้การต้อนรับในวันนั้น, อาจารย์ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส ที่ปรึกษากรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ, อนันตา อินทรอักษร (ชื่อเล่น กบ) หัวเรี่ยวหัวแรงของกลุ่ม Big Tree Project (ดูตัวตนและหัวใจต้นไม้ของเธอได้ที่ www.youtube.com/watch?v=hX_Ns2Gz-k4), สมลักษณ์ หุตานุวัตรนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เธอเห็นนามสกุลผมไปพ้องกับเพื่อนสมัยที่เรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ถามไปถามมาระหว่างทานอาหารกลางวันด้วยกันที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ปรากฏว่าเพื่อนคนนั้นคือน้องสาวคนเล็กของผม (รัศมี หาญวจนวงศ์) นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดตามอีกหลายคนในที่นั้นที่ผมได้ทำความรู้จัก อาทิเช่น ลูกสาวของอาจารย์ปองขวัญ หน้าตาสะสวยแบบลูกครึ่ง เพราะมีคุณพ่อเป็นชาวตะวันตก เธอนำกล้องมาเก็บภาพกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันนั้นบุคคลทั้งหมดที่ผมกล่าวถึงนี้ล้วนแต่มีส่วนในการร่วมก่อตั้ง ‘เครือข่ายมักกะสัน’ ขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจกรรมเชิดชูคุณค่าคู่ควรมรดกโลกของโรงงานมักกะสัน
ในวันนั้นเองของการได้มาร่วมกิจกรรมเยี่ยมชมตั้งแต่ 9.00 น ถึง 16.00 นผมได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์พันลึกที่ดำรงอยู่ในมรดกแผ่นดินไทยขนาด 745 ไร่ ณ ใจกลางเมืองหลวงนี้ โดยส่วนหนึ่งได้แฝงฝังอยู่ในอาคารที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ซึ่งส่วนใหญ่พังทลายเสียหายไปเกือบหมดด้วยฤทธิ์ทำลายล้างของลูกระเบิดจากเครื่องบินฝ่ายกองทัพสัมพันธมิตรที่เข้ามาโจมตีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2เหลือเพียงไม่กี่หลังที่อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ยลเป็นบุญตา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘อาคาร ร.ฟ.ผ.๒๔๖๕’ (รูปที่ 2)ที่ถือได้ว่าเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดของโรงงานมักกะสัน และได้รับการจัดลำดับความสำคัญโบราณสถานอยู่ในลำดับ 3 มรดกทางวัฒนธรรมจากกรมศิลปากรเมื่อปี 2549
ความมหัศจรรย์พันลึกอีกส่วนหนึ่งที่สถิตมาช้านาน ก็คือดงต้นไม้ใหญ่ชนิดหายากที่ขึ้นเบียดเสียดกันอยู่อย่างหนาแน่น จนทำให้โรงงานมักกะสันกลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดมหึมาที่มีสภาพกึ่งป่าในเมืองต้นไม้ใหญ่เหล่านี้มีพลังชีวิตที่เรียกว่า “ชี่” เก็บงำไว้มากมาย รอให้ผู้คนนำออกมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดโรคภัยและบำรุงสุขภาพให้แก่ตนเอง การแพทย์แผนจีนตระหนักรู้มานานแล้วว่า การอยู่ท่ามกลางต้นไม้จะช่วยให้คนป่วยฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนในประเทศจีนจะมีสวนป่าเป็นของตนเอง อย่างเช่นโรงพยาบาลซีหยวน (西苑医院) ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลการแพทย์แผนจีนเกรด AAA จะให้คนไข้ออกมายืน นั่ง หรือนอนในสวนป่า เพื่อที่ต้นไม้จะได้ช่วยขับไอโรคให้คนไข้
อาจารย์หยาง เผยเซินตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้จึงถ่ายทอดวิชาชี่กงเพื่อให้ผู้ฝึกสามารถนำชี่ของต้นไม้มาใช้ประโยชน์ ซึ่งมีอยู่ 2 ท่า คือท่า‘ขับไอโรคให้ต้นไม้’ เพื่อขับโรคภัยต่างๆ ออกไปจากร่างกาย ทำให้ผู้ฝึกมีสุขภาพที่ดีฟื้นคืนกลับมา และท่า ‘รับพลังจากต้นไม้’ซึ่งเหมือนกับการชาร์ทไฟให้ร่างกาย เป็นวิธีการเพิ่มเติมเจินชี่ (真气 หรือชี่แท้)ที่ได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและป้องกันโรค หลังจากเจินชี่สมบูรณ์แล้วก็จะสามารถส่งพลังเพื่อบำบัดโรคให้ผู้อื่น
เพื่อให้ศาสตร์ชี่กงอันทรงคุณค่านี้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชน ผมจึงได้ทำการสาธิตวิชานี้กับต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณศาลาเอนกประสงค์ วิหารหลวงพ่อนาคปรก (รูปที่ 3) โดยเลือกต้นยางนาที่มีลำต้นสูงใหญ่ มีความจุในการดูดซึมไอโรคได้มาก มาใช้ฝึกท่า “ขับไอโรคให้ต้นไม้” และเลือกต้นตะแบก ที่ขอนดอกของมันมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงตับ บำรุงครรภ์ นิยมใช้ทำยาหอม มาใช้ฝึกท่า “รับพลังจากต้นไม้” ทั้งนี้ คุณสมลักษณ์ หุตานุวัตรได้นำวีดิโอคลิปบันทึกเหตุการณ์นี้ลงในเว็บไซต์ยูทูปนี้แล้ว (www.youtube.com/watch?v=nVk9vrI0ERU)
อาจารย์หยางได้ทำการสาธิตท่า “รับพลังจากต้นไม้” ให้แก่ผู้ที่มีความสนใจ โดยสามารถเข้าไปชมดูได้ที่เว็บไซต์ยูทูปนี้(https://www.youtube.com/watch?v=1avs4HDwhpM) และศึกษาเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “แนวทางและวิธีดูแลสุขภาพของตนเองด้วยการฝึกวิชาชี่กง : กวงอิมจื้อไจ้กง” แต่งโดย สมร อริยานุชิตกุล (ศิษย์รุ่นที่ 7) อีกทั้งยังมีการสอนอยู่ในหลักสูตรชี่กง “กวงอิมจื้อไจ้กง” ขั้นที่ 1
ดร.สมพงษ์ หาญวจนวงศ์ ศิษย์รุ่นที่ 51
Comments